“พีทีที ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์” บทพิสูจน์ฝีมือคนไทย ขับเคลื่อน “โมโตจีพี” ผลักดันเศรษฐกิจ

ภาพการฉลองแชมป์โลกสมัยที่ 8 อย่างยิ่งใหญ่ของ มาร์ค มาร์เกซ นักบิดชาวสแปนิช ที่ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ถูกตีแผ่ออกไปสู่สายตาแฟนความเร็วทั่วโลกกว่า 800 ล้านคู่ เป็นการนำเสนอความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของการเป็นเจ้าภาพ “โมโตจีพี” ครั้งที่ 2 ในเมืองไทย ขณะที่ตัวเลขด้านเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนผู้เข้าชม 226,655 คน สูงกว่าปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า “พีทีที ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์” ภายใต้ฝีมือคนไทยไม่เพียงนำไปสู่ความสำเร็จในด้านมอเตอร์สปอร์ต แต่ยังบ่งชี้ถึงการนำมาซึ่งเม็ดเงินมหาศาลหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของไทย

การลงทุนในกีฬามอเตอร์สปอร์ต แม้จะเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงหากเทียบกับอีเวนต์กีฬาประเภทอื่นๆ โดยค่าลิขสิทธิ์ของ โมโตจีพี นั้นตกอยู่ปีละราว 300 กว่าล้านบาท แต่เพื่อแลกกับการนำพาประเทศให้ก้าวขึ้นไปทัดเทียมกับแถวหน้า จึงถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าสุดๆ

จากการประเมินเบื้องต้นของ “กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า ตัวเลขจำนวนผู้เข้าชมการแข่งขันศึกโมโตจีพี สนามที่ 15 ณ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ รวมทั้งหมด 3 วัน ระหว่าง 4-6 ตุลาคม 2019 มีจำนวน 226,655 คน เพิ่มขึ้น 4,120 คน จากปีที่แล้ว หรือคิดเป็นร้อยละ 1.85

“ในแง่ของการจัดการแข่งขันสำหรับผม ปีที่แล้วเป็นปีที่พิสูจน์ว่า ประเทศไทย คนไทย สามารถเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโมโตจีพี ซึ่งถือว่าเป็นเวิลด์ อีเวนต์ ได้ ส่วนในปีนี้มันไม่ใช่แค่เราทำได้ แต่เราทำมันได้อย่างสมบูรณ์แบบ” เนวิน ชิดชอบ ประธานที่ปรึกษา สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ เผย

“ผมเชื่อว่าแฟนๆ ที่มาที่สนามได้เห็นความเปลี่ยนแปลง และความพร้อมที่แตกต่างจากปีที่แล้วอย่างมหาศาล ทั้งในเรื่องของการจัดชัตเติล การรับส่งคน เรื่องของการจัดสแตนด์เชียร์ต่างๆ ซึ่งสำหรับผมเองตั้งเป้าเอาไว้ว่าปีหน้าจะไม่ทำให้มันเป็นแค่การจัดการแข่งขันโมโตจีพีที่มันสำเร็จ แต่ผมอยากจะทำให้มันเป็นโมโตจีพี ที่คนมีความสุข มันหมายความว่า จะไม่มีสนามไหนที่มีการแข่งขันที่มีความสุขสำหรับแฟนโมโตจีพีมากเท่ากับที่สนามช้างฯ จ.บุรีรัมย์ ประเทศไทย นั่นคือเป้าหมายที่เรากำหนดไว้”

ในปี 2019 สัดส่วนของผู้ชมชาวต่างประเทศจากทั้งหมด 41 ประเทศ ที่เดินทางมายังสนามช้างฯ คิดเป็นร้อยละ 26.3 หรือเท่ากับ 59,525 คน และมีสัดส่วนคนไทยคิดเป็นร้อยละ 73.7 หรือเท่ากับ 167,130 คน ซึ่งสัดส่วนของชาวต่างชาติถือว่าสูงขึ้นจากร้อยละ 17.5 ในปี 2561 เป็นร้อยละ 26.3 ในปี 2562 และมีการขยายตัวขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติร้อยละ 52.8

“ตัวเลขของผู้คนของปีที่แล้วกับปีนี้ โตขึ้นราว 4,000-5,000 คน แต่ว่าสิ่งที่ผมดีใจมากก็คือตัวเลขการท่องเที่ยว แฟนโมโตจีพีต่างชาติโตขึ้นกว่า 50% ถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการท่องเที่ยว การจ้างงาน รายได้ และเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยปีที่แล้วมีต่างชาติมาราวๆ 30,000 คน แต่ปีนี้มาเยอะถึง 60,000 คน”

“นี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าการที่รัฐบาลเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการแข่งขัน มันมีผลต่อการกระตุ้นการท่องเที่ยวจากคนต่างชาติ และแก้ปัญหาเศรษฐกิจรวมถึงรายได้ของประชาชนได้ เชื่อว่าเหตุนี้จะเป็นสิ่งที่รัฐบาลนำไปประกอบการตัดสินใจสำหรับการต่อสัญญากับทางดอร์น่า เพื่อนำโมโตจีพีมาแข่งที่ประเทศไทยต่อไป”

ขณะเดียวกัน นายเนวิน กล่าวถึงสถานการณ์ล่าสุดของการต่อสัญญา โมโตจีพี กับ ประเทศไทย ว่า “ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับซีอีโอ ดอร์น่า สปอร์ต ซึ่งสอบถามเราซ้ำว่า ตกลงเรื่องการต่อสัญญาจะว่าอย่างไร เพราะว่าในเดือนมีนาคมปีหน้าจะเป็นปีสุดท้ายในสัญญา 3 ปี มันเหลืออีกแค่ 5 เดือนเท่านั้น ตอนนี้มีสนามต่างๆ ในทั่วโลกแสดงความจำนงที่จะขอจัดโมโตจีพี 25 สนาม เขาจึงกดดัน และอยากให้เรามีคำตอบให้เร็วที่สุดว่าจะตกลงต่อสัญญาหรือไม่ ผมก็ได้เชิญทางกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มานั่งคุยกับซีอีโอของดอร์น่า เพื่อพูดคุยในเรื่องดังกล่าว”

นอกจากนี้ นายเนวิน ยังกล่าวถึงการแข่งขัน โมโตจีพี ในปีหน้าของเมืองไทย ซึ่งจะถูกโยกมาเป็นสนามที่ 2 ของปี ในช่วงปลายเดือนมีนาคม ซึ่งถือเป็นช่วงที่มีอากาศร้อนที่สุดของประเทศไทยว่า

“ในปีหน้าเรากำลังคิดกันอยู่ว่าอาจเปลี่ยนไปจัดการแข่งขันตอนกลางคืน หรือ ไนท์เรซ เราต้องประเมินกันก่อนแต่เราคิดถึงเรื่องนั้นอยู่แล้ว คนดูจะได้ประโยชน์อย่างแน่นอนเพราะว่าการจัดไนท์เรซมันมีผลดีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอากาศที่เย็นสบาย ไม่ต้องทนแดดร้อน อาจจะเริ่มควอลิฟายตั้งแต่ 5 โมงเย็น ซึ่งในเรื่องของเวลาไม่ใช่ปัญหา มันเป็นไอเดียที่ดีมากๆ เพราะไนท์เรซจะทำให้ยอดคนดู หรือวิวเวอร์ สูงขึ้นกว่าปกติแน่นอน”

“เพราะว่าฝั่งยุโรปเขาเป็นเวลากลางวันพอดี ทุกวันนี้ที่เราจัดอยู่ทางฝั่งยุโรปมันเพิ่งเป็นเวลาเช้า อาจจะยังไม่ตื่นกัน แต่ถ้าเป็นไนท์เรซจะเป็นเวลาที่เหมาะมากๆในต่างประเทศ มันจะได้มูลค่าในการโปรโมทประเทศมากยิ่งขึ้นมากกว่าเรซปกติ ซึ่งจุดนี้ต้องขอไปดูตัวเลขอะไรต่างๆก่อน และถ้าพอไหวก็จะพยายามช่วยๆกันให้มันเกิดขึ้นให้ได้”

ทั้งนี้ นายเนวิน ชิดชอบ ประธานที่ปรึกษาสนามช้างฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ผมขอขอบคุณแฟนๆชาวไทยทุกคน และที่สำคัญก็คือขอบคุณพี่น้องชาวบุรีรัมย์ทุกคนที่พยายามทำทุกอย่างให้ออกมาดีที่สุด คนเล็กๆแต่หัวใจใหญ่ของพวกเรา อย่างคนที่ขับรถอีแต๋น คนที่ขับมอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง ถีบสามล้อ ดูแลช้าง คนที่เป็นอาสาสมัครเก็บขยะแยกขยะ รวมไปจนถึงทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำให้เราเป็นเจ้าบ้านที่ดีได้ ทำให้เราสร้างความประทับใจให้นักท่องเที่ยวได้ และหวังว่าเขาจะกลับมาบ้านเราอีก ขอบคุณทุกคนจริงๆ ขอบคุณคนเล็กแต่หัวใจใหญ่ทุกคนจริงๆ”

โดยล่าสุด ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย เปิดเผยหลังจบการแข่งขัน พีทีที ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์ ที่ สนามช้าง อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา ว่า “ภาพรวมของการแข่งขันในปีนี้ถือว่ายอดเยี่ยมมากๆ เราได้เห็นแฟนชาวไทยเข้าชมเป็นจำนวนมาก โดยคาดว่าภาพรวมทางเศรษฐกิจ และตัวเลขต่างๆ จะสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา หากเทียบในช่วงเดียวกันของการแข่งขัน ซึ่งคาดการณ์ว่าน่าจะสูงกว่าเดิม 25%”

“ส่วนเรื่องการต่อสัญญากับ ดอร์น่า สปอร์ต เพื่อให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน โมโตจีพี ออกไปจากสัญญาฉบับเดิม 5 ปีนั้น ตอนนี้มีความชัดเจนอย่างมาก โดย ดอร์น่า ได้ส่งเอกสารและเงื่อนไขต่างๆ มาให้เราพิจารณาแล้ว โดยจะมีการเพิ่มสิทธิ์ด้าน อี-สปอร์ตเข้าไปอีก ซึ่งเขาจะให้สิทธิ์เฉพาะลูกค้าเก่าเท่านั้น”

“ค่าลิขสิทธิ์ของ โมโตจีพี จะมีการเพิ่มขึ้นจากเดิมในทุกๆ ปี แต่เราซึ่งเป็นลูกค้าเก่าก็จะได้ราคาที่คุ้มค่ากว่าลูกค้าใหม่ และผลประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับก็มากมายมหาศาลจริงๆ”

ทั้งนี้ ดร.ก้องศักด กล่าวถึงเรื่องการต่อสัญญาว่าในตอนนี้ยังไม่เป็นทางการ ซึ่งจะต้องมีการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจ และประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน โมโตจีพี โดยคาดว่าจะใช้เวลาราว 1 สัปดาห์ในการรวบรวมตัวเลขดังกล่าว

“เราต้องใช้ตัวเลขสถิติต่างๆ ทั้งภาคเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว รวมถึงผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ และนำเสนอเข้าให้ คณะรัฐมนตรี พิจารณา ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยจะมีการเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ 2 ใน 3 ของค่าลิขสิทธิ์ทั้งหมด เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของภาคเอกชน และเชื่อว่าจะมีการดำเนินการต่อสัญญาดังกล่าวเสร็จสิ้นหลังผ่านมติ ครม. ในเดือนพฤศจิกายนนี้”

พีทีที ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์ 2019 ซึ่งเป็นปีที่ 2 ของไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน โมโตจีพี กับตัวเลขผู้ชมที่สูงกว่าเดิม ตัวเลขเศรษฐกิจสูงกว่าเดิม ความสำเร็จที่มาจากทุกความร่วมมือของคนไทยทุกส่วน จึงถือเป็น “บทพิสูจน์” ฝีมือการทำงานในอีเวนต์ระดับโลกของ “คนไทย” อย่างไร้ข้อกังขา